วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

Songkran Festival 2011

แวะเวียนเข้ามาบรรจบครบรอบอีกแล้วครับสำหรับเทศกาล "สงกรานต์" ของไทยเรา ..ช่างรวดเร็วเสียเหลือเกิน

ซึ่งถ้าจะคิดเล่น ๆ นั้นคล้ายกับว่า ปีใหม่สากลนั้นเพิ่งจะผ่านไป "แหม่บ ๆ " ก็ถึงปีใหม่ไทยอีกหนซะแล้ว

สำหรับวันสงกรานต์ปี 2554 นี้ครอบครัว "กระดิ่งทอง" ก็ไม่ได้เดินทางไปไหนครับ อยู่กับเย้าเฝ้ากับเรือน

ทั้งนี้อาจจะไม่ค่อยมีเวลาและมีภาระกิจอื่นที่ต้องทำ จึงไม่ได้เดินทางไปที่ใดของประเทศไทย 

และในยามว่างนี้ "น้องนิ้งและน้องนนท์ รวมทั้งน้องยา" ก็ขับขี่รถ atv เล่นไปพราง ๆ ในสวนเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน รวมทั้งได้สูดดมอากาศที่บริสุทธิ์ในยามเย็นด้วย





ความหมายของ "วันสงกรานต์" นั้นหมายถึง วันปีใหม่ของชาวไทย

ซึ่งแต่ก่อนเก่านั้นประเทศไทยเราไม่ได้นับปีใหม่เมื่อ





ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุก ๆ ปี แต่จะนับปีใหม่แบบไทย ๆ เรานั้นก็ต่อเมื่อตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุก ๆ ปี

สถานการณ์ที่คล้าย ๆ กันนี้ก็เช่น "วันตรุษจีน" นั่นเอง และนั่นก็เป็นวันปีใหม่ของชาวจีนเขา ส่วน 13 เมษายน ก็เป็นวันปีใหม่ของไทย ๆ เรานั่นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการติดต่อสื่อสารทำให้โลกนี้แคบลงทำให้ต้องกำหนดวันปีใหม่ให้เป็นสากลตามกันทั่วโลก


ในช่วง "วันสงกรานต์" นั้นก็จะนับตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน ของทุก ๆ ปี ส่วนจะถึงวันที่ 16-17 เมษายนนั้นก็แล้วแต่ว่าสองวันนี้จะตรงกับวันเสาร์และอาทิตย์หรือไม่

กิจกรรมในวันสงกรานต์ก็จะเป็นการ "พบปะสังสรรค์" ของคนในครอบครัวซึ่งต้องแยกย้ายจากกันไปเพื่อทำมาหากินหรือดำรงชีพในช่วงวัยทำงาน

จึงทำให้คนในครอบครัวเดียวกันที่อยู่รวมกันเมื่อยังเล็ก ๆหรือเยาว์วัยห่างหายกันไปไม่ได้พบหน้าและพูดคุยกันตามประสาพี่น้อง

ดังนั้น..เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงทำให้ "ต้อง" มาพบปะสังสรรค์ตามประสาญาติพี่น้องรวมถึง "การรดน้ำดำหัว" ให้กับผู้หลักผู้ใหญ่

เพื่อ "ขอพร" จากท่านและ "ขอขมาลาโทษ" กับบุคคลท่านอื่น ๆ ที่มิได้ตั้งใจด้วย


โดยส่วนใหญ่แล้วบุคคลเหล่านี้ต้องเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อออกไปทำมาหากินต่างถิ่นแดนไกลนั้นก็จะเป็นชาวต่างจังหวัด หรืออยู่ตามชนบทนั่นเอง 

พอถึงเทศกาลสงกรานต์....จึงเป็นเวลาสำคัญที่ต้องกลับไป "โฮม" หรือ "รวม" ญาติกันที่บ้านใน "ภูธร" นั่นจึงเป็นที่มาของการเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดกัน

แล้วเราก็จะเห็นการจราจรที่ติดขัดตลอดเส้นทางสู่ชนบททั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งในช่วงเวลาที่กำลังเดินทางนี้ก็ไม่ได้หงุดหงิดอะไร

หากเป็นการ "สนุกสนาน" ซะด้วยซ้ำไปเพราะจะได้พบหน้าผู้เป็น "พ่อและแม่" ที่รอคอยรับอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็สร้างความสุขได้ทั้งสองฝ่ายที่จะได้เจอกัน

การเดินทางกลับไปยังบ้านนอกคอกนาเรานั้นส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางโดย "รถยนต์" ซะส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์โดยสารของ บขส. ก็แล้วแต่สะดวก

ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนตัวก็มีทั้งรถกระบะและรถเก๋ง ถ้าเป็นรถกระบะนั้นก็จะขนสิ่งของใส่หลังกระบะรถกลับไปให้ญาติ ๆ ที่ต่างจังหวัดเพื่อเป็นของฝาก

หลังกระบะรถอาจเป็นญาติ ๆ หรือบุคคลที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันที่อาศัยเดินทางกลับบ้านด้วยในคราวเดียวกัน ทั้งจะได้เป็นเพื่อนในยามเดินทางไกลและถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

บางส่วนอาจจะเดินทางโดย "รถไฟ" ของรัฐบาลซึ่งมีให้บริการมากกว่าปกติ ถึงแม้จะเพิ่มเท่าไรก็ไม่เคยพอซักปี เพราะใคร ๆ ก็อยากกลับก่อนและเร็วด้วยกันทั้งนั้น


อีกส่วนหนึ่งที่ต้องการความรวดเร็วก็จะเดินทางกับด้วย "เครื่องบิน" การเดินทางแบบนี้ก็จะต้องมีการจองบัตรจองตั๋วกันไว้ล่วงหน้าจึงจะสามารถใช้บริการได้



....เวลาที่ใช้ในการเดินทางก็ถือว่าไม่นาน อย่างน้อยก็ไม่ถึงกับข้ามวัน คนที่เดินทางกลับก็ไปถึงบ้านเกิดเมืองนอนซะที

จากนี้ก็จะเป็นการต้อนรับจากคนที่รอคอยเพื่อรับคนที่เดินทางมาจากแดนไกล ทำให้บรรยากาศสงกรานต์ของปีเริ่มต้นแบบสวยงามอีกครั้ง....


เมื่อญาติพี่น้องได้พบปะกันพร้อมหน้าพร้อมตาทุก ๆ คนแล้วก็เป็นการยินดียิ่งนัก ต่างพูดคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ สู่กันฟัง

พร้อมกันนั้นก็สังสรรค์กันไปด้วย เรียกได้ว่า “เหล้ายา ปลาปิ้ง อาหาร การกิน” ก็พร้อมเพรียงอยู่ด้านหน้า

จากนั้นก็ถึงเวลาที่จะ “รดน้ำดำหัว” ให้กับพ่อแม่รวมทั้งญาติพี่น้องและผู้หลักผู้ใหญ่

ในขันนั้นก็จะเป็นน้ำที่ถือได้ว่าสะอาดและหอมกรุ่นไปด้วยแป้งหอม “มองเล่ย์ยะ” พร้อมด้วย “ดอกมะลิ” และ “พวงมาลัย” ที่ร้อยด้วยดอกมะลิอีกหนึ่งพวงใหญ่

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เริ่มด้วยการ “ขอ-ขมาลาโทษ” กับผู้เป็นพ่อและแม่รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วตามด้วยการตักน้ำล้างเท้าให้กับพ่อและแม่

แล้วค่อยรดน้ำที่มือและรดน้ำที่ตัวให้กับท่าน จากนั้นท่านก็ อวยพร และ “รดน้ำ” ให้กับเราเป็นการตอบแทน

ด้วยประเพณีไทย ๆ เยี่ยงนี้เมื่อพบเห็นแล้วทำให้เป็นที่อบอุ่นยิ่งนัก เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วทุก ๆ คนก็สนุกสนานกันเต็มที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่


ส่วนในเมืองใหญ่นั้นก็มีการแห่ “พระ” และ “นางสงกรานต์” ไปรอบ ๆ ตัวเมืองเพื่อให้พระท่าน “รดน้ำมนต์” ให้กับประชาชนเพื่อความเป็นสิริมงคลกับการต้อนรับปีใหม่แบบไทยเรา

ส่วนด้านหลังพระทั้งในและนอกขบวนแห่นั้นก็เล่นน้ำสงกรานต์ไปในคราวเดียวกันด้วย ซึ่งก็เป็นการสนุกสนานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ประเพณีสงกรานต์นี้ ถ้าชาวต่างชาติที่ทราบข่าวก็จะพยายามมาร่วมสนุกด้วยถ้าเขามีโอกาส


กิจกรรมในช่วงสงกรานต์อีกวันก็จะเป็นการไป “สรงน้ำพระพุทธ” และ “ก่อเจดีย์ทราย”

เหตุที่มีการก่อเจดีย์นั้น ก็มีการตีความหมายว่า ในช่วงเวลาปกติที่เราเดินเข้าออกวัดทั้งการมาทำบุญหรือกิจกรรมอะไรก็ตามปี ๆ หนึ่งนั้นเราเหยียบเอาดินและทรายจากวัดออกไปแบบไม่รู้ตัว

ดังนั้น เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็เลยต้องมีการขนทรายเข้าวัดซึ่งถ้าขนเข้าวัดเฉย ๆ ก็จะไม่มีอะไรที่น่าสนใจเท่าไร จึงได้ก่อกองทรายให้สวยงามด้วยก็จะดีขึ้น 

และยังมีการประดับประดาสิ่งต่าง ๆ เข้าไปเพื่อเติมสีสรรค์เข้าไปอีก และแล้วสิ่งที่ทำขึ้นมานั้นก็ดึงดูดใจกับผู้คนทั่วไปที่พบเห็นสมดังความปรารถนา


สำหรับประเพณีสงกรานต์นั้นก็จะมีด้วยกันปีละหนึ่งครั้งในช่วงเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี โดยในอดีตที่ผ่านมานั้นเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่ร้อนหรือตรงกับฤดูร้อนของเมืองไทยนั่นเอง

แต่สำหรับปี ๒๕๕๔ นั้นช่างเป็นเดือนที่มีการ “แปรผัน” ยิ่งนัก คือ มีทั้ง ฤดูหนาว ฤดูร้อน และ ฤดูฝน รวมกันเข้าเป็น 3 in 1 เหมือนกาแฟสำเร็จรูปเลย


เอาล่ะ...... ท้ายสุดแล้ว ก็ขอให้ทุก ๆ คนเดินทางทั้งไปและกลับด้วยความปลอดภัย,,,,,ยิ่ง .....ขอรับ


ภาพ "ความอบอุ่น" ของครอบครัว